ขอเชิญดาวน์โหลดข้อมูล Infographic สรุปผลการศึกษาการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรตาม BCG Model

           ตามที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ให้ดำเนินงาน “โครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรตาม BCG Model” โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลแก่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ

2) เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

3) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขยายผลการพัฒนากับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ

           ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model (Bio Circular Green Economy) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) จึงมีความจำเป็นและนำมาซึ่งแนวทางและข้อเสนอแนะในการสร้างความสมดุลแก่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมไปถึงเป็นแนวทางในการขยายผลการพัฒนากับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมวางแผนธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ บัดนี้ทางโครงการฯ ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินงานดังต่อไปนี้

 

ดาวน์โหลดข้อมูล Infographic ทั้งหมดได้ที่นี่
[file_manager root_folder=”10205″ /]

 

วัตถุประสงค์โครงการและหลักการของ BCG Model

            เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งหลายคนอาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าพูดถึงไบโอดีเซลทุกคนน่าจะรู้จัก จึงเป็นที่มาให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการบริหารจัดการอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตาม BCG Model ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลแก่อุตสาหกรรม ส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม สร้างความมั่งคงด้านพลังงานของประเทศ และยังเป็นแนวทางในการขยายผลกับอุตสาหกรรมอื่น หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า BCG Model คืออะไร หรืออาจจะเคยได้ยินนโยบาย BCG ที่ปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามในการผลักดัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักและเข้าใจหลักการของ BCG กันก่อน B มาจากคำว่า Bioeconomy หรือเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่ต้องการให้มีการใช้วัตถุดิบชีวภาพทดแทนวัตถุดิบที่ผลิตมาจากฟอสซิล  C มาจากคำว่า Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบเส้นตรงไปเป็นการผลิตแบบหมุนเวียนที่พยายามนำของเสียต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และ G คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นการช่วยอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรเดิมด้วยการใช้วิธีทางธรรมชาติในการแก้ปัญหา หรือด้วยเทคโนโลยีสะอาด โดย BCG Model เป็นการผสมผสานจุดเด่นของเศรษฐกิจทั้ง 3 แบบได้อย่างลงตัว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

 

 

การวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยและโลก

            รู้หรือไม่ว่า จากพืชน้ำมันทั้งหมด ปาล์มน้ำมันมีการผลิตมากที่สุด คือ ประมาณ 36% ของน้ำมันพืชทั้งหมด โดยคู่แข่งที่สำคัญของน้ำมันปาล์ม ก็คือน้ำมันถั่วเหลือง ที่มีการผลิตประมาณ 28% และในเวทีโลกประเทศไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ปริมาณการผลิตก็ยังถือว่าห่างไกลจากอันดับ 1 และ 2 ของโลกอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซียอยู่มาก โดย 2 ประเทศนี้มีกำลังการผลิตมากกว่า 80% ของกำลังการผลิตของโลก และคุณรู้หรือไม่ว่า ประเทศไหนบ้างที่มีการบริโภคน้ำมันปาล์มน้ำมันสูงที่สุด คำตอบก็คือ อินโดนีเซีย ตามมาด้วย อินเดีย สหภาพยุโรป จีน และมาเลเซีย ซึ่งการบริโภคน้ำมันปาล์มเพียงแค่ 5 ประเทศก็สัดส่วนมากกว่า 50% ของน้ำมันปาล์มทั้งโลก โดยส่วนใหญ่บริโภคเป็นอาหารและพลังงาน หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

 

 

 

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน

            ถ้าพูดถึงปาล์มน้ำมัน คนทั่วไปน่าจะนึกถึงน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากผลปาล์มสด โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเพื่อให้การผลิตน้ำมันปาล์มมีคุณภาพ คุณภาพของน้ำมันปาล์มจะดีหรือไม่นั้น ต้องเริ่มมาจากการปลูกที่ดี ควรมีการวางแนวแปลงปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าที่แต่ละด้านห่างกันด้านละ 9 เมตร ตามแนวทิศเหนือใต้ และใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ตามการตรวจปุ๋ยทางใบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมันนั้น คือ ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแมงกานีส เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงควรมีการให้น้ำด้วยระบบการให้น้ำแบบต่างๆ เช่น น้ำผิวดิน หรือน้ำหยด เป็นต้น นอกจากนี้การกำจัดวัชพืชก็มีความจำเป็นเหมือนกับการดูแลพืชอื่นๆ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แรงงานคน การใช้สารเคมี หรือการปลูกพืชคลุมดิน เป็นต้น เมื่อปาล์มน้ำมันเติบโตเต็มที่แล้วจะให้ผลผลิต คือ ผลปาล์มที่จะใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และเพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มปริมาณมาก โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงการคงอยู่ของสารอาหารต่าง ๆ เทคโนโลยีการแปรรูปปาล์มน้ำมันในปัจจุบันจึงใช้ความร้อนสูง ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานทั้งในกระบวนการสกัด และการกลั่น แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีเอนไซม์มาใช้มากขึ้น ทำให้มีการใช้พลังงานน้อยลง ตามหลักการของ Green Economy ทำให้สามารถรักษาสารอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติในน้ำมันปาล์มไว้ได้ นอกจากนี้จะมีการนำวัตถุดิบชีวภาพจากอุตสาหกรรมปาล์ม เช่น ทะลายปาล์มเปล่า ต้นปาล์ม หรือใบปาล์ม มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแทนวัตถุดิบจากฟอสซิล และเป็นการลดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด เพื่อไปผลิตเป็น สารเคมีตั้งต้น (Chemical building blocks) ด้วยกระบวนการกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) แล้วนำไปผลิตเป็นวัสดุย่อยสลายได้ต่างๆ สำหรับด้านพลังงานก็จะมีการผลิตพลังงานที่หลากหลายขึ้น เช่น Syngas Ethanol Bio-oil หรือแม้กระทั่งเป็นน้ำมันที่ทดแทนน้ำมันจากฟอสซิลได้ 100% ตามหลักการของ Bioeconomy และ Circular Economy ไปพร้อมกัน

 

 

 

ต้นแบบ BCG Model ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

            ต้นแบบ BCG Model สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนทางธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีสะอาด เช่น เทคโนโลยีเอนไซม์ การกลั่นชีวภาพ เป็นต้น ปัจจุบันในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ได้มีการใช้ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต และพยายามลดของเสียจากการผลิตอยู่แล้ว แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์นัก และการผลิตโดยรวมยังคงเป็นแบบเส้นตรง จึงควรมีการดำเนินการตามหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งหากมีการดำเนินการตาม BCG Model แล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์ได้อย่างน้อย 19% จากผลพลอยได้อย่างน้อย 12% และจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตันผลิตภัณฑ์ลงได้สูงถึง 25 % นอกจากนี้ยังสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 55% โดยการผลิตแบบใหม่จะเป็นระบบที่มีการหมุนเวียนทรัพยากรการผลิตได้มากกว่าเดิม ลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการหมุนเวียนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

 

โครงสร้างและการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

            พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทย มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะปลูกมากบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคอีสานตอนบน ซึ่งก็มักจะพบโรงสกัดน้ำมันกระจายตัวอยู่ตามแหล่งที่มีการปลูกหรือใกล้ๆ กับแหล่งวัตถุดิบผลปาล์มสดมากเช่นกัน โดยจะมีการกระจุกตัวอย่างมากในภาคใต้ สำหรับโรงงานแปรรูปอื่นๆ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตไบโอดีเซล โรงโอเลโอเคมี ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องด้วยต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ยังมีจุดอ่อนด้านปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตสูงจากหลายปัจจัย และมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือที่รู้จักในชื่อ มาตรฐาน RSPO ที่เป็นความต้องการของประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป ส่งผลให้อุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศและแข่งขันกับวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้ยาก นอกจากนี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนั้นถูกกดดันด้วยปัจจัยต่างๆ อีกหลายด้าน เช่น น้ำมันปิโตรเลียมที่เป็นคู่แข่งทางด้านเชื้อเพลิงมีราคาต่ำลง หรือแม้แต่การจำหน่ายวัตถุดิบผ่านพ่อค้าคนกลางก็อาจส่งผลให้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มมีราคาที่สูงขึ้นได้  แต่ก็ยังมีโอกาสจากเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  และการแข่งขันของตลาดภายในประเทศไม่สูงมากนัก หากเทียบกับตลาดต่างประเทศ ถึงอย่างไรก็ยังมีปัจจัยบวกทางด้านความต้องการตลาดที่มีกระแสการบริโภคผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีและสินค้าประเภท Green Product เพิ่มขึ้น ถึงแม้ในช่วงนี้จะได้ผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงด้วยโรคระบาดอย่าง COVID 19 และความไม่แน่นอนจากภัยธรรมชาติที่อาจจะกระทบต่อการผลิตปาล์มน้ำมัน ภาพรวมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ซึ่งรัฐบาลพยายามให้การสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี แต่อาจจะติดขัดด้านกฎหมายต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุง

 

 

 

แผนพัฒนาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

            อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย มีข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิตจากวัตถุดิบที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ มีต้นทุนการผลิตที่สูงตามไปด้วย ประกอบกับข้อจำกัดจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของตลาดประเทศคู่ค้า ส่งผลให้แข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ยาก แผนพัฒนาในระยะสั้นจึงควรปรับปรุง 1) ลดต้นทุนการผลิตวัตถุดิบ 2) จัดทำมาตรฐาน RSPO ให้ครอบคลุม 3) พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี 4) แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบสร้างความมั่นใจด้านการลงทุน และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ Green Product 5) จัดทำ Zoning ทั้งพื้นที่ปลูกและเขตอุตสาหกรรมที่เหมาะสม 6) พัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีด้วยนวัตกรรมภายในประเทศ 7) ส่งเสริมการตลาดภายในประเทศและคู่ค้ารายใหม่ 8) รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น สายส่งไฟฟ้า ระบบชลประทาน เป็นต้น รวมถึงนโยบายการสนับสนุนด้านเงินทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมจากระยะสั้นไประยะยาวควรเริ่มจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเดิม เช่น กลีเซอรีนบริสุทธิ์ สาร Methyl Ester Sulfonate (MES) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม และสารหล่อลื่นชีวภาพ (Bio-Lubricant) ที่จะสามารถดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มได้จำนวนมาก ในกรณีที่การใช้น้ำมันไบโอดีเซลอาจลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยบางอย่าง เช่น โรค COVID 19 ในระยะถัดไปควรพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ เพื่อผลิตสารเคมีตั้งต้น (Chemical Building Blocks) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุย่อยสลายได้ต่างๆ หรือการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้จากน้ำมันปาล์ม และ Bio-hydrogenated Diesel (BHD) เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ สำหรับช่วงปลายของแผนพัฒนาควรพัฒนาโรงงาน Electrofuels ที่เป็นการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน จากการแตกตัวโมเลกุลของน้ำไปเป็นก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซออกซิเจน แล้วนำก๊าซไฮโดรเจนไปรวมกับคาร์บอน ที่ได้มาจากการใช้สารเอมีนที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมาเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพื่อเป็นแหล่งคาร์บอน โดยการเริ่มใช้งานระบบครั้งแรกจะใช้พลังงานตั้งต้นจากพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น หลังจากนั้นจะเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เกิดจากความร้อนในระบบไปผลิตกระแสไฟฟ้าไปเรื่อยๆ

             การพัฒนาที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นๆ

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถาบันผลิตผลเกษตรฯ Email : aaptpp@ku.ac.th

Leave a Reply