ไบโอโฟมสตาร์ชมันสำปะหลังและเส้นใยธรรมชาติ
ที่มาและวัตถุประสงค์
บรรจุภัณฑ์โฟมนิยมใช้สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารเนื่องจากมีความหนาแน่นต่ำ น้ำหนักเบา แข็งแรงและยืดหยุ่น รวมทั้งมีราคาถูก โดยทั่วไปนิยมผลิตโฟมจากพอลิสไตรีน ซึ่งเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่ก่อให้เกิด สารสไตรีนและสารเบนซิน ซึ่งเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ และส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำแป้งซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น แป้งมันสำปะหลัง มาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อทดแทนพอลิสไตรลีน อย่างไรก็ตามถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังมีสมบัติที่ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากไม่ทนต่อความชื้น มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นต่ำ จึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ถาดโฟมย่อยสลายได้จากสตาร์ชมันสำปะหลังดัดแปรด้วยกรดอินทรีย์ที่บริโภคได้และปลอดภัยต่อผู้บริโภค และผสมเส้นใยธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงสมบัติการต้านทานน้ำ และสมบัติเชิงกล ของโฟมดังกล่าว
ผลผลิต
- ถาดโฟมสตาร์ชมันสำปะหลังดัดแปร หรือสตาร์ชมันสำปะหลังผสมเส้นใยธรรมชาติ ที่มีสมบัติเชิงกลใกล้เคียงกับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังผสมเส้นใยทางการค้า ซึ่งสามารถคงรูปได้และไม่เสียสภาพ เมื่อบรรจุน้ำที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 6-24 ชั่วโมง และน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที
การใช้ประโยชน์
- ถาดโฟมที่พัฒนาได้สามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ สำหรับอาหารประเภทอาหารทอดหรืออาหารกึ่งแห้งได้
แหล่งทุนวิจัย
โปรแกรมมันสำปะหลัง ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ (RNS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)