ดร.ปรียานุช สีโชละ นักวิจัยสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มก. ได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ในงานการประกวดนวัตกรรม “16th International Invention and Innovation Show INTARG® 2023” ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์

ดร.ปรียานุช สีโชละ นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ผลงาน “นวัตกรรมเยื่อฟางข้าวและชานอ้อยสำหรับใช้ประโยชน์ทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายทางชีวภาพ” และ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ผลงาน “นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนแอคทีฟเคลือบผิวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการห่อทุเรียนแกะเปลือก” ในเวทีการประกวดนวัตกรรม “16th International Invention and Innovation Show INTARG® 2023” ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2566
     
โดยผลงาน นวัตกรรมเยื่อฟางข้าวและชานอ้อยสำหรับใช้ประโยชน์ทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายทางชีวภาพ เป็นนวัตกรรมการผลิตเยื่อฟางข้าวและปรับปรุงคุณสมบัติเยื่อฟางข้าว สำหรับการใช้ประโยชน์ทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายทางชีวภาพ สามารถกันน้ำและกันน้ำมันในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม และนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลตัวอย่างในกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ เพื่อการผลิตเบื้องต้น และการจัดส่งเยื่อในเชิงพาณิชย์  โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการบริหารการใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกตามนโยบายอุตสาหกรรม และเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนในท้องถิ่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกรและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อีกทั้ง ยังอาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการบริหารการใช้ผลผลิตพลอยได้ทางการเกษตรอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

สำหรับผลงาน นวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนแอคทีฟเคลือบผิว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการห่อทุเรียนแกะเปลือก เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตเส้นใยจากส่วนเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการศึกษาสภาวะการผลิตเยื่อด้วยวิธีการต้มด้วยการใช้สารที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนที่มีประสิทธิภาพในการห่อทุเรียนแกะเปลือก เพิ่มคุณสมบัติการควบคุมกลิ่น และการควบคุมก๊าซเอทีลีนที่เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อเนื้อเยื่อซึ่งช่วยเร่งอัตราการเสื่อมสภาพของพืช โดยเทคโนโลยีการแอคทีฟเคลือบผิวด้วยวิธีเอนแคปซูเลชั่น และยังเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเปลือกทุเรียนยังมีความสามารถในการการย่อยสลายทางชีวภาพอีกด้วย