เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ดร.ปรียานุช สีโชละ นักวิจัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา “Pack to the Future: บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ที่จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ซึ่งภายในงานได้มีผู้ประกอบการ และนักวิชาการจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น คือ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก เช่น พลาสติก โฟม และได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านวัสดุสร้างสรรค์มาเพื่อร่วมบอกเล่าเรื่องราวของ “บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก” ที่พร้อมจะส่งต่อความยั่งยืนแก่คนรุ่นหลัง
ดร.ปรียานุช สีโชละ ได้พูดถึงในหัวข้อ “ต่อยอดองค์ความรู้คืนกลับสู่ชุมชน โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร“ ในประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เหลือทิ้งทางการเกษตรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ชานอ้อย ไผ่ กัญชง ผักตบชวา และอื่น ๆ ที่ชาวบ้านและเกษตรกรมักนำไปเผาทิ้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ต่อไปได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ด้านการวิจัย สิ่งที่ ดร.ปรียานุช และสถาบันผลิตผลเกษตรฯ ต้องการ คือ ขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลไทย และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) โดย “สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ของเราจะไม่เรียกขยะว่า ‘ขยะ’ แต่จะเรียกว่า “ผลพลอยได้ทางการเกษตร” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดได้ และสิ่งนี้จะต้องได้รับการสื่อสารไปยังกลุ่มชาวบ้านให้เห็นค่าด้วย” จึงมีความพยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้าน ด้วยการนำองค์ความรู้ที่มีไปเผยแพร่ให้ผู้นำชุมชน เพื่อถ่ายทอดให้กับชาวบ้านและคนรุ่นหลัง และทำให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการนำเศษเหลือทางการเกษตรมาปรับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้มาใช้เพื่อคืนประโยชน์กลับสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)